จากปาฐกถาพิเศษ การศึกษาในการเตรียมตัวเข้าประชาคมอาเซียน จะต้องเตรียมทุกระดับตั้งแต่ผู้กำหนดนโยบายจนกระทั้งถึงผู้เรียนเพราะการศึกษานั้นที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในทางที่สร้างสรรค์ สำหรับสังคมและประเทศชาติ อาเซียนก่อตั้งเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2510 โดยนักการทูตไทยคือท่านถนัด คอมันตร์ ประเทศไทยจึงมีความภาคภูมิใจในการเป็นผู้ก่อตั้งอาเซียนซึ่งในอดีตประเทศไทยไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นของใคร และในขณะนั้นประเทศต่างๆในภูมิภาคนี้พึ่งหลุดพ้นจากประเทศอาณานิคม ประเทศไทยจึงสามารถเป็นผู้นำประเทศเหล่านี้จึงเป็นสิ่งน่าภูมิใจ
ชีวิตในยุคอาเซียนและยุคโลกาภิวัตน์ไม่ต้องการสอนให้คนจำแต่ต้องการให้คนวิเคราะห์เป็น คิดเป็น สังเคราะห์เป็น แก้ปัญหาเป็น คนไทยต้องเตรียมตัวอะไรบ้างที่จะเข้าไปสู่สมาคมอาเซียน ประการแรก วิธีคิดจะต้องเปลี่ยน ต้องพร้อมที่จะรับความแตกต่าง หลากหลาย เคารพคนอื่น ให้เกียรติคนอื่น เข้าใจคนอื่น วิถีของคนอื่น ความคิดของคนอื่น ค่านิยมของคนอื่น ประการที่สองในเรื่องของภาษา ต้องเตรียมความพร้อมในเรื่องของภาษาเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขัน ประเทศต้องเปิด คนไทยต้องพร้อม และคนไทยต้องมีภาษาที่สามารถไปพูดจาต่อรองเจรจา ประการที่สามความเป็นเลิศในด้านวิชาการ ต้องเปิดตัวเองมากขึ้น ต้องสร้างเครือข่ายกับสถาบันระหว่างประเทศมากขึ้น ต้องแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ เพิ่มพูนทักษะให้กับบุคลากรทางวิชาการ การศึกษาต้องเป็นวาระที่สำคัญของครอบครัว ต้องเริ่มจากครอบครัวเริ่มจากพ่อแม่ที่ต้องรับวาระการศึกษาเป็นสำคัญสูงสุดของครอบครัว ประการที่สี่สุดท้ายต้องเข้าใจและต้องทำ คนไทยต้องมีความทะเยอทะยาน ให้ลูกให้หลานให้บรรลุจุดสูงสุดตามศักยภาพที่เขามี ซึ่งแต่ละคนมีไอคิวไม่เท่ากัน แต่ไอคิวไม่เท่ากับโอกาสที่พ่อแม่จะมอบให้ทำอย่างไรที่จะให้พ่อแม่ทุกคนตระหนักว่าถ้าให้เด็กบรรลุถึงศักยภาพสูงสุดของเขาแล้ว คือความสำเร็จของสังคม ปรัชญาการศึกษาถูกต้องคือเอาสิ่งที่เด็กมีอยู่ข้างในออกมาให้เต็มที่สูงสุด
จากการรับฟังปาฐกถาพิเศษ สามารถนำสิ่งเหล่านั้นมาพัฒนาต่อตัวผู้เรียนเพื่อพร้อมที่จะเป็นพลเมืองอาเซียนได้ ดังนั้นเพื่อเพิ่มศักยภาพในการเรียนรู้ให้ผู้เรียน ต้องเริ่มจากสถาบันครอบครัว หน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้อง กระทรวงศึกษาธิการวางนโยบายปฏิรูปการศึกษา พัฒนาหลักสูตร จัดการศึกษาพัฒนามาตรฐานการศึกษา ตลอดจนพัฒนาสมรรถนะของบุคลากร ส่งเสริมความตระหนักในการเข้าสู่สมาคมอาเซียน คนไทยทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาทุกระดับอย่างมีคุณภาพ แต่สิ่งที่สำคัญครูผู้ใช้หลักสูตรต้องช่วยกันขับเคลื่อน ยกระดับคุณภาพการศึกษา เข้าใจในหลักสูตร ซึ่งคุณภาพการศึกษาของประเทศไทยที่ผ่านยังด้อยคุณภาพเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาคอาเซียน เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงการจัดการศึกษาของประเทศไทยที่ไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งปัญหาดังกล่าวอาจเกิดจากปัจจัยหลายด้าน ปัญหาทางด้านสังคม เช่นปัญหาทางการเมืองที่ไม่สงบ ปัญหาการคอรัปชั่น การเปลี่ยนแปลงผู้บริหารที่กำหนดนโยบายบ่อยเกินไป ปัญหาทางด้านบุคลากรทางการศึกษา เช่นการขาดแคลนครูผู้สอน ครูมีภาระหน้าที่งานอื่นมากกว่างานสอน ครูมีหนี้สินมากเกินไป การโกงการสอบเพื่อบรรจุครูผู้ช่วย ปัญหาทางด้านผู้เรียน เช่นความสนใจของเด็กในการเรียนลดลง ให้ความสนใจในเรื่องของสื่อบันเทิง เกม ทำให้ความสนใจในการศึกษาหาความรู้ลดน้อยลง ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ ดังนั้นการศึกษาไทยควรมีการปฏิรูปการศึกษาโดยมีการวางกรอบแนวทางที่ชัดเจน จัดการศึกษาอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ เรียนรู้ผ่านโครงงานและการทำงานเป็นทีม สนับสนุนการใช้ ICT ในการหาความรู้ด้วยตนเอง พัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะการคิดขั้นสูง คิดวิเคราะห์ คิดสังเคราะห์เป็น สามารถเชื่อมโยงองค์ความรู้ต่างๆ เข้าด้วยกันได้ นอกจากนั้น หลักสูตรควรมีความยืดหยุ่นโดยให้แต่ละโรงเรียนสามารถพัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับบริบทของตนได้ใช้วิธีการสอนที่หลากหลาย ปฏิรูปการทดสอบมาตรฐานในระดับประเทศเพื่อให้เพื่อวัดความรู้ความเข้าใจและทักษะ ซึ่งสามารถประยุกต์เนื้อหาเข้ากับชีวิตจริงได้
การที่ประเทศไทยจะแก้ปัญหาการศึกษาได้นั้น ทุกฝ่ายต้องให้ความสำคัญและหันมาร่วมมือกันอย่างจริงจังเพื่อให้การพัฒนาทางด้านการศึกษาเป็นไปอย่างมีคุณภาพมากขึ้น และช่วยกันพัฒนาประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้าในด้านต่างๆต่อไป